Downloads

วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์

w1 resize

          วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ ขึ้นทะเบียนเป็นวัดถูกต้องตามพระราชบัญญัติเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2529 แต่เป็นวัดที่ชาวบ้านในอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง รู้จักและศรัทธามาหลายศตวรรษแล้ว ปัจจุบันวัดมีเนื้อที่ 120 ไร่ ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ออกโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดิน ตำแหน่งที่ดิน ตำบลแม่ถอด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ระวางรูปถ่ายทางอากาศชื่อ บ้านแม่ถอด ทะเบียนเลขที่ 2660 เล่มที่ 27 ธ. หน้า 10 เลขที่ดิน 10 หมายเลข 4864 แผ่นที่ 90 หนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับนี้ ออกให้เพื่อแสดงว่า ชื่อ วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ สัญชาติไทย บ้านเลขที่ 96 หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ถอด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ได้ครอบครองและได้ทำประโยชน์ในที่ดินแปลงที่กล่าวข้างต้นแล้ว จำนวนเนื้อที่ 120 ไร่

 

 

          บริเวณพื้นที่มีภูเขาสองลูก ห่างกันประมาณ 50 เมตร ลูกหนึ่งเป็นที่ตั้งวัด ชาวบ้านเรียกกันว่า ถ้ำแม่แก่ง เป็นภูเขามีถ้ำใหญ่เดินทะลุออกได้เป็นหินอ่อนทั้งลูก โดยธรรมชาติกว้างใหญ่สวยงาม มีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ภายในถ้ำลูกนี้ทางวัดได้สร้างกุฎิเป็นรูปโดมและรูปทรงไทยไว้รอบ ๆ เขา ภายในถ้ำเป็นทางแยกออกได้อีกทาง ซึ่งเรียกว่า ถ้ำหลวงปู่ อยู่ตรงหางพญานาคตัวขวามือ ส่วนใหญ่ด้านบนเป็นกุฎิพักภาวนาของหลวงพ่อ ส่วนอีกลูกหนึ่ง เรียกกันว่า ถ้ำพระบาท เพราะบนยอดเขาลูกนี้มีรอยพระพุทธบาทจมอยู่ในหินลึกประมาณ 1 ฟุต ยาวประมาณ 50 นิ้ว เห็นได้ชัดเจน ไม่มีการตกแต่งแต่อย่างใด

 

 

 

          วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ อยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลครึ่ง ทั้ง 4 หมู่บ้าน คือ 1. บ้านแม่เติน 2. บ้านนาบ้านไร่ 3. บ้านแม่แก่ง และ 4. บ้านใหม่ทุ่งเจริญ ในบริเวณใกล้เคียงไม่มีหมู่บ้าน ต่อมา พ.ศ. 2506 พระอาจารย์วิชัย ปสันโณ (พระครูนาควัชราธร) ได้เข้ามาพักบำเพ็ญภาวนา ณ ที่ถ้ำนี้ ประจวบกับในสมัยนั้น โป่งข่ามอำเภอเถินกำลังโด่งดังมาก เพราะในเขตบริเวณของถ้ำมีบ่อแก้วโป่งข่ามอยู่ด้วย ท่านอาจารย์วิชัยเห็นว่าถ้ำนี้เงียบสงบดี อยู่ไกลจากหมู่บ้าน ไม่อึกกระทึก ประกอบกับเป็นที่โคจรของพระธุดงค์ที่หาความสงบเงียบของครูบาอาจารย์มากท่านจึงริเริ่มสร้างเสนาสนะขึ้น ในสมัยนั้นได้สร้างศาลาการเปรียญและกุฎิหลายหลัง เป็นที่รู้จักและ รุ่งเรืองอยู่พักหนึ่ง แต่การคมนาคมก็ยังลำบากมาก ต้องเดินด้วยเท้า ท่านอยู่ได้ประมาณ 5 ปี ก็มีศรัทธาญาติโยมมานิมนต์ท่านไปอยู่ที่วัดช้าง จังหวัดกำแพงเพชร ท่านก็ได้ไปตามที่ญาติโยมนิมนต์ และก็ได้ไปให้ลูกศิษย์อยู่ต่อ พระที่อยู่นั้นอยู่ได้เพียงปีเดียวก็มรณภาพด้วยโรคมาเลเรีย ถ้ำนี้จึงร้างเรื่อย ๆ มา มีพระมาพักบำเพ็ญภาวนา ก็มากันเป็นเวลาชั่วครู่ชั่วยาม

 

 

 

          สิ่งก่อสร้างสมัยที่ท่านอาจารย์วิชัยสร้างไว้ก็เริ่มสลักหักพังด้วยปลวกบ้าง พายุบ้าง ไฟป่าบ้าง จนเห็นแต่ซากให้รู้ว่าเคยเป็นวัดมาก่อน เจ้าคณะธรรมยุต จังหวัดลำปาง แพร่ น่าน พะเยา เชียงราย คือ ท่านเจ้าคุณพระพิศิษฎ์- ธรรมภาณ ท่านเคยมาตรวจและเห็นว่าเป็นถ้ำที่สวยงาม ก็รู้สึกเสียดาย พยายามหาพระมาอยู่ ทุกองค์ก็อยู่กันไม่ได้ไม่ทราบสาเหตุ องค์แล้วองค์เล่าก็อยู่กันไม่ได้

 

 

 

          เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2524 ท่านเจ้าคุณพระพิศิษฎ์ธรรมภาณ ได้พา หลวงพ่อรวย กลฺยาโณ (พระครูวิมลคณาภรณ์) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันเข้ามา ณ ที่นี้ เท่าที่ทราบกันว่าในขณะนั้นหลวงพ่อรวยท่านป่วยอยู่ หลวงพ่อรวยจึงไปกราบท่านเจ้าคุณพระพิศิษฎ์ธรรมภาณ เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัด เพื่อขอเข้ามาอยู่ในถ้ำนี้ เพราะนอกจากท่านเป็นพระที่หลวงพ่อท่านเคารพและยังเป็นอุปัชฌาย์ของท่านด้วย ท่านจึงได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าคุณพระพิศิษฎ์ธรรมภาณ ให้เข้าไปอยู่และมาส่งท่าน พร้อมด้วยของใช้ที่จำเป็นให้แก่หลวงพ่อมาใช้ ในวันแรกที่หลวงพ่อท่านเข้ามาอยู่ในวัดถ้ำ รุ่งเช้าท่านออกบิณฑบาต ณ ที่หมู่บ้านแม่เติน เป็นระยะทางไปกลับ 7 กิโลเมตร อาหารที่ได้มาก็เพียงหน่อไม้ต้มกับข้าวเหนียวและขนมปัง 2 ชิ้น

 

 

          ในตอนสายวันนั้น ก็มีชาวบ้าน 5 6 คนเข้ามาหาท่าน และมาคุยเรื่องเก่า ๆ ในถ้ำนี้ ให้หลวงพ่อท่านฟัง และได้เอ่ยถามหลวงพ่อท่านว่า หลวงพ่อจะอยู่ได้หรือ เพราะที่นี่หลายต่อหลายองค์อยู่กันไม่ได้สักองค์ ไม่ทราบเพราะเหตุใด พวกผมเห็นว่าหลวงพ่อผอมบางอย่างนี้ คิดว่าอยู่ได้ไม่นานนะ หลวงพ่อท่านได้แต่ยิ้มและบอกกับชาวบ้านพวกนั้นว่า อาตมาจะมาเพื่อบำเพ็ญภาวนารักษาตัว คิดว่าจะตายก็ขอให้ตายที่ถ้ำนี้จะลองอยู่ดู คุยกันอยู่พักหนึ่งเขาก็ลากลับกัน หลวงพ่อก็คงอยู่ของท่านไปจนใกล้จะเข้าพรรษา ชาวบ้านเห็นว่าหลวงพ่อท่านอยู่ได้เป็นเดือนแล้ว จึงเข้ามาหาและบอกว่าจะหาเด็กมาบวชเณรเพื่อเป็นเพื่อนในพรรษา เผื่อหลวงพ่อจะได้ไว้ใช้ในบางโอกาส หลวงพ่อก็ว่าดีเหมือนกัน ชาวบ้านเขาก็เอาเด็กมาให้ 4 คน หลวงพ่อท่านจึงนำไปให้ท่านเจ้าคุณพระพิศิษฎ์ธรรมภาณ อุปัชฌาย์ของท่านบวชเด็กทั้ง 4 เป็นสามเณรในพรรษานั้นเอง

 

 

          หลวงพ่อท่านจึงได้ชักชวนสามเณรกับชาวบ้าน ช่วยกันถางหญ้าหน้าถ้ำ เพื่อให้พ้นจากสภาพที่รกร้าง ในเดือนกันยายนพรรษานั้น วัดป่าสันติสุขารามอยู่หลังตลาดอำเภอเถินได้มีประเพณีสลากภัตร ทางวัดมาได้นิมนต์หลวงพ่อและสามเณรทั้งสี่รูป ไปรับก๋วยสลาก หลวงพ่อท่านจับได้สลากของ คุณสุคนธ์ ศุภมงคล และคุณสุคนธ์ ก็ได้ถามถึงสารทุกข์สุขดิบว่าเป็นอย่างไร ซึ่งระหว่างนั้นเป็นฤดูเข้าพรรษาพอดี หลวงพ่อจึงจำพรรษาอยู่ในถ้ำ และต่อมาคุณสุคนธ์ก็เกิดศรัทธาขึ้นจึงได้ชวนสามีคือ นายแพทย์สุธรรม ศุภมงคล มาทอดผ้าป่า นำเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาถวายพร้อมปัจจัยอีกประมาณเจ็ดพันบาทเป็นกองผ้าป่ากองแรก

 

 

 

 

           เนื่องจากถนนที่เข้าวัดยังลำบากมากในสมัยนั้น เงินก้อนนั้นหลวงพ่อท่านจึงขอชาวบ้านช่วยรื้อกุฎิที่ชำรุดหักพังมาทำการก่อสร้างขึ้น โดยอาศัยไม้เก่า ๆ ไม่นานวัดก็เริ่มเป็นรูปร่างขึ้น พอมีกุฎิให้สามเณรพักอาศัยกันแดดกันฝน หลังจากออกพรรษาทางวัดได้รับกฐินสามัคคีจากคณะของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระพุทธวราภรณ์ (ปัจจุบันเป็นสมเด็จพระพุทธปาพจนบดีวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ) มาทอดได้เงินสามหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยบาทถ้วน และในปีนี้เองได้มีพระภิกษุ สามเณร แม่ชีมาขออยู่ร่วมบำเพ็ญภาวนามากขึ้น